การจัดระเบียบทางสังคม (Social Organization)

บรรทัดฐานของสังคม (Norm) ความหมาย
บรรทัดฐาน คือ ระเบียบหรือแบบแผนแห่งพฤติกรรมซึ่งเกิดจากการปฏิบัติตามนิยามของสังคมนั้น

ประเสริฐ แย้มกลิ่นฟุ้ง ได้อธิบายว่า “บรรทัดฐาน หมายถึง ระเบียบ กฎเกณฑ์ แบบพฤติกรรม หรือคตินิยมที่สังคมวางได้ เพื่อกำหนดแนวทางสำหรับบุคคลยึดถือปฏิบัติในสถานการณ์ต่าง ๆ การที่สมาชิกในสังคมมีการติดต่อสัมพันธ์กันราบรื่น ก็เพราะแต่ละฝ่ายต่างปฏิบัติตามบรรทัดฐานที่ทุกคนมีความเข้าใจร่วมกัน ทำให้เกิดความแน่นอนและความเป็นระเบียบในชีวิตสังคม

ตามความเห็นของ ดร. ไพฑูรย์ เครือแก้ว “บรรทัดฐาน คือ ตัวกำหนด พฤติกรรมหรือกริยา ในชีวิตประจำวันของคนในสังคม หมายความว่า บรรทัดฐานจำเป็นต้องแสดงมาตรฐานหรือบ่งบอกมาเลยว่าในสถานการณ์หรือ เหตุการณ์เฉพาะอย่างยิ่งในชีวิตประจำวันของแต่ละบุคคลนั้น เขาควรจะปฏิบัติหรือ มีกิริยาอาการเช่นใดบ้าง”

ความสำคัญของบรรทัดฐาน

บรรทัดฐานมีบทบาทสำคัญต่อการควบคุมสัมพันธ์ภาพของบุคคลในสังคมช่วยทำหน้าที่ควบคุมพฤติกรรมของบุคคลให้เป็นไปตามที่สังคมปรารถนา ทำให้เกิดแบบแผนอันดีงาม โดยเฉพาะอย่างยิ่งช่วยกำกับมนุษย์ในสังคมหนึ่งสามารถประพฤติได้อย่างรวดเร็วและถูกต้องโดยไม่ต้องเสียเวลาไตร่ตรองนึกคิดว่าในสถานการณ์เช่นนั้น ตนควรจะทำอะไรหรือทำอย่างไร

ที่มาของบรรทัดฐาน

บรรทัดฐานเกิดขึ้นจากการที่มนุษย์ในสังคมหนึ่ง ๆ ปฏิบัติหรืองดเว้นการปฏิบัติตามคตินิยมของสังคมนั้น ๆ จนกลายเป็นระเบียบแบบแผนหรือประเพณีนิยม คตินิยม มักมีรากฐานสำคัญมาจากลัทธิความเชื่อถือในทางศาสนา ตัวอย่างเช่น สังคมหนึ่งอาจมีประเพณีฆ่าแพะบูชาพระเจ้า ทำให้เกิดบรรทัดฐานดังกล่าวขึ้น นอกจากนั้น ค่านิยมก็เป็นรากฐานสำคัญอันเป็นที่มาของบรรทัดฐาน เช่น สังคมไทยมีค่านิยมทางยกย่องเคารพนับถือผู้ใหญ่ ก็ทำให้เกิดการนับถือผู้ใหญ่ และการที่มนุษย์ปฏิบัติตามบรรทัดฐานก็เพราะมนุษย์ได้เรียนรู้จากประสบการณ์ต่าง ๆ ที่ได้มีชีวิตอยู่ในสังคมนั้น
ประเภทของบรรทัดฐาน
การจำแนกประเภทของบรรทัดฐานทางสังคมวิทยานั้น แยกเป็น 3 ประเภท คือ
1) วิถีประชา (Folkways)
2) วินัยแห่งจรรยา (Mores)
3) กฎหมาย (Laws)

1) วิถีประชา (Folkways)

เป็นแนวทางสำหรับการปฏิบัติหน้าที่ ไม่ค่อยมีความสำคัญต่อการดำเนินชีวิตของมนุษย์มากนัก มักเป็นเรื่องเกี่ยวกับการที่มนุษย์ในสังคมหนึ่ง ๆ ได้ปฏิบัติกันทุกวี่ทุกวัน จนกลายเป็นความเคยชินและเป็นขนบธรรมเนียมประเพณี หากบุคคลใดละเมิดฝ่าฝืนก็ไม่ได้รับโทษรุนแรงแต่ประการใด เพียงแต่ได้รับคำติฉินนินทาว่าประพฤติปฏิบัติในทางไม่ชอบไม่ควรเท่านั้น เช่น มรรยาทในการ รับประทานอาหารบนโต๊ะ การแต่งกายไปในโอกาสต่าง ๆ โดยเหมาะสม หรือพูดภาษาที่สุภาพซึ่งบุคคลในสังคมนั้นนิยมใช้กัน
วิถีประชาแบ่งออกเป็นประเภทได้ดังนี้
1. สมัยนิย  เป็นวิถีประชาซึ่งแสดงออกถึงความนิยมของหมู่ชนในช่วงระยะเวลาหนึ่ง “สมัยนิยม” อาจเกิดขึ้นแพร่หลายไปอย่างรวดเร็วและเมื่อถึงจุด ๆ หนึ่งก็จะเสื่อมความนิยมลงไป เช่น สมัยนิยมของการแต่งกาย

2. ความนิยมชั่วครู่เป็นแบบของพฤติกรรมบางอย่าง ซึ่งมีลักษณะผิวเผิน คือ ไม่จริงจังอะไรนัก เพราะฉะนั้น “ความนิยมชั่วครู่” จึงเปลี่ยนแปลงได้ง่ายและเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว กล่าวคือ ความเป็นที่นิยมเพียงชั่วครู่ชั่วยามแล้วก็ส่างซาไป เช่น สมัยหนึ่งนิยมพูดว่า “ไม่สน” “อย่าให้เซด” หรือ “เพลียฮาร์ด” เป็นต้น

3. ความคลั่งไคล้ เป็นเรื่องของความไม่มีเหตุผล อธิบายได้ว่า เมื่อ “ความคลั่งไคล้” เข้าครอบงำสิงสู่ผู้ใดแล้ว ผู้นั้นมักประพฤติปฏิบัติไปในทำนอง โง่เขลาปัญญา กล่าวคือ จะหมกมุ่นอยู่แต่เรื่องที่ตนคลั่งไคล้จนไม่มีกะจิตกะใจที่จะทำอะไรอื่น เช่น คลั่งไคล้เรื่องโป่งข่ามหรือเรื่องว่านต่าง ๆ จะใช้เวลาทั้งหมดเสาะแสวงหาโป่งข่ามหรือว่าน พบใครคุยกับใครมักจะพูดแต่เรื่องที่ตนคลั่งไคล้

4. งานพิธี เป็นเรื่องที่แสดงออกซึ่งเกียรติหรือความมีหน้ามีตา (ซึ่งใครจะปฏิบัติหรือไม่ปฏิบัติก็ได้) เช่น งานฉลองวันเกิด พิธีฉลองวันแต่งงาน เป็นต้น

5. พิธีการ เป็นแบบเรื่องของกลุ่มบุคคลที่เกี่ยวข้องเท่านั้นและมักจะระบุซึ่งวิธีการนั้นไว้ด้วย เช่น พิธีจรดพระนังคัลล์แรกนาขวัญ หรือ พิธีต้อนรับน้องใหม่ เป็นต้น พิธีการดังกล่าวมีส่วนสำคัญในการสร้างความศักดิ์สิทธิ์หรือเพิ่มกำลังภายในให้แก่พิธีการนั้น ๆ เป็นอย่างดี

6. มรรยาททางสังคมเป็นเรื่องของการปฏิบัติตนให้เหมาะสมกับกาลเทศะในการสมาคม เช่น มรรยาทในการรับประทานอาหารหรือการกล่าวคำขอบคุณเมื่อได้รับสิ่งของหรือความช่วยเหลือจากบุคคลอื่นเหล่านี้ เป็นต้น

2) วินัยจรรยาหรือกฎศีลธรรม (Mores)

เป็นแบบแผนความประพฤติ ที่ถือว่ามีความสำคัญกว่าวิถีประชา เพราะเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับสวัสดิภาพหรือความดี ความชั่ว ซึ่งผู้ไม่ปฏิบัติตามจะได้รับปฏิกิริยาโต้ตอบจากสมาชิกของสังคมอย่างรุนแรงกว่าวิธีประชา ขอยกตัวอย่างเช่น คนไทยมีกฎศีลธรรมไม่บริโภคเนื้อสุนัขและเนื้อแมว เพราะถือว่าเป็นสัตว์เลี้ยงในบ้าน หากทราบว่า บุคคลใดบริโภค ผู้นั้นจะได้รับปฏิกิริยาโต้ตอบในทางลง กล่าวคือ จะไม่มีใครอยากคบค้าสมาคมด้วย โดยเกรงว่าผู้นั้นมีจิตใจขาดศีลธรรมและเหี้ยมโหด จึงได้บริโภคเนื้อสุนัขและเนื้อแมว

3) กฎหมาย (Laws)

เนื่องจากสังคมมนุษย์มีแนวโน้มไปในเชิงซ้อน จึงเกิดปัญหาข้อโต้แย้งเกี่ยวกับแบบแผนพฤติกรรมของมนุษย์ จึงเป็นหน้าที่ของสังคมที่จะต้องตราบทบัญญัติและกฎหมายที่เป็นลายลักษณ์อักษร เพื่อควบคุมสังคมให้มีความสงบเรียบร้อย ตลอดจนจัดเจ้าหน้าที่คอยควบคุมตรวจตราจับกุมผู้ละเมิดฝ่าฝืนมาลงโทษตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย

ฉะนั้น กฎหมายจึงเป็นเรื่องของบ้านเมืองหรือรัฐบาล มิใช่เป็นเรื่องระหว่างปัจเจกชนต่อปัจเจกชน อนึ่งกฎหมายที่ออกใช้บังคับแล้ว อาจถูกเปลี่ยนแปลง แก้ไขหรือยกเลิกและมีการออกใช้บังคับใหม่อยู่เสมอ ตามความเหมาะสมและจำเป็น

กฎหมายมักมีรากฐานมาจากวิถีประชาหรือวินัยแห่งจรรยา เพราะฉะนั้น กฎหมายที่ดีจึงควรสอดคล้องหรือไม่ขัดกับวิถีประชาและวินัยแห่งจรรยา
การบังคับใช้ (Sanction)
การบังคับใช้บรรทัดฐานในสังคมนั้น ก็โดยมีวัตถุประสงค์จะให้นำมาซึ่งการปฏิบัติตามความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันและการสืบต่อเนื่องของกลุ่ม
การบังคับใช้นั้นกระทำได้ 2 วิธี คือ
1) การให้ปูนบำเหน็จเช่น การยกย่องชมเชยและการให้ เหรียญตรา เป็นต้น

2) การลงโทษคือ มีการกำหนดโทษทัณฑ์แก่ผู้ฝ่าฝืนหรือละเมิดบรรทัดฐาน ซึ่งมีตั้งแต่การซุบซิบนินทา การปรับ การจองจำ ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับ ความผิดอันเกิดจากการละเมิดหรือฝ่าฝืน ซึ่งกำหนดไว้ในวิถีประชา วินัยแห่งจรรยา หรือกฎหมายของสังคมนั้น ๆ

อนึ่งในกลุ่มปฐมภูมินั้น การลงโทษมักเป็นแบบอรูปนัยเช่น การซุบซิบนินทาหรือการไม่คบค้าสมาคมด้วย ส่วนกลุ่มทุติยภูมินั้น การลงโทษมักเป็นในแบบรูปนัยคือ เป็นไปตามกฎหมายบ้านเมือง
การขัดกันของบรรทัดฐาน
ในบางสถานการณ์อาจเกิดการขัดกันของบรรทัดฐานกล่าวคือ บุคคลจะต้องเลือกปฏิบัติตามบรรทัดฐานอย่างใดอย่างหนึ่ง ขอยกตัวอย่างเช่น นาง ค. เป็นแม่ของลูก 4 คน นาง ค. มีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามบรรทัดฐานบางอย่าง เช่น ต้องเคารพในกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินของผู้อื่น (คือ ต้องไม่ขโมยสิ่งของของคนอื่น) ในขณะเดียวกัน นาง ค. มีหน้าที่ปฏิบัติตามบรรทัดฐานของแม่ที่พึงมีต่อลูกตน จึงต้องเลี้ยงดูลูก ๆ แต่เพราะความยากจน นาง ค. จำต้องขโมยทรัพย์สินของบุคคลอื่น เพื่อนำมาเลี้ยงดูลูกของตน เป็นต้น


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น