วันอาทิตย์ที่ 26 สิงหาคม พ.ศ. 2555

โครงสร้างทางสังคม

ศาสตราจารย์ ดร. ประสาท หลักศิลา ได้เปรียบเทียบลักษณะโครงสร้างของสังคมมนุษย์ไว้เหมือนกับลักษณะโครงสร้างของบ้านแต่ละหลัง หมายความว่า สังคมมนุษย์แต่ละแห่งย่อมประกอบด้วยผู้คนที่มารวมกลุ่มกันมากมายหลายกลุ่มแต่ละกลุ่มต่างก็มีหน้าที่ที่แตกต่างกัน ทำนองเดียวกัน บ้านแต่ละหลังก็ต้องประกอบด้วยส่วนต่าง ๆ คือ เสา หลังคา ฝา พื้น และอื่น ๆ ไม้แต่ละชิ้นและกระดานแต่ละแผ่นประกอบกันเข้าเป็นส่วนต่าง ๆ ของบ้านแต่ละหลัง เหมือนคนแต่ละคนเป็นส่วนหนึ่งของแต่ละกลุ่มลักษณะความสัมพันธ์ต่อกันของไม้แต่ละชิ้น ทำให้เราทราบว่า เป็นฝาหรือเป็นพื้น เช่นเดียวกัน การมารวมของแต่ละคนทำให้เราทราบว่า กลุ่มใดเป็นครอบครัว เป็นโรงเรียน เป็นร้านค้า หรือเป็นวัด ลักษณะความสัมพันธ์ต่อกันของส่วนต่าง ๆ ของบ้านทำให้เรามองเห็นรูปโครงของบ้านแต่ละหลัง ทำนองเดียวกัน โครงสร้างของสังคมมนุษย์แต่ละแห่งย่อมเห็นได้จากลักษณะความสัมพันธ์ต่อกันของกลุ่มต่าง ๆ ที่ประกอบกันเข้าเป็นสังคมมนุษย์ ตามทัศนะของศาสตราจารย์ ดร. ประสาท หลักศิลา โครงสร้างของสังคมมนุษย์ประกอบด้วยส่วนที่สำคัญดังต่อไปนี้

คน (Population)

สังคมมนุษย์ใดจะแข็งแรงเพียงไรหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับองค์ประกอบต่าง ๆ ดังกล่าวมาแล้วนี้ ถ้าสังคมใดประกอบด้วยประชากรที่มีพอเหมาะกับทรัพยากรธรรมชาติ มีความขยันขันแข็ง มานะอดทน กระตือรือร้นในการทำงาน มีเหตุผลและมีความรับผิดชอบงานในหน้าที่สูง สังคมนั้นย่อมมีโอกาสที่จะเจริญ ก้าวหน้าและผู้คนก็จะมีชีวิตอยู่อย่างมีความสุข

กลุ่มคน (Group)

ถ้าสังคมใดประกอบด้วยกลุ่มคนที่แต่ละกลุ่มต่างก็มี หน้าที่และรับผิดชอบงานในหน้าที่สูง เช่น กลุ่มนักศึกษาก็พยายามค้นคว้าหาความรู้เพื่อความเจริญงอกงามในด้านต่าง ๆ กลุ่มทางการปกครองทำหน้าที่รับผิดชอบงานในหน้าที่ของตนเป็นอย่างดี ฯลฯ สังคมนั้นย่อมดำรงอยู่เป็นปึกแผ่นและมั่นคงถาวร

สถาบันสังคม (Social Institution)

ถ้าสังคมใดมีสถาบันหรือมีแบบอย่างการกระทำเพื่อให้ถึงซึ่งจุดมุ่งหมายอย่างใดอย่างหนึ่งที่ดีและเหมาะสม ที่จะใช้กับสังคมนั้น ย่อมจะนำให้สังคมนั้น ๆ ดำเนินสู่จุดหมายปลายทางได้อย่างมีประสิทธิภาพ

สถานภาพและบทบาท (Status and Role)

ถ้าสังคมใดมีการจัดระเบียบสังคมที่ดีมีระเบียบแบบแผนที่คนในสังคมยึดถือเป็นแนวปฏิบัติที่เหมาะสมและคน แต่ละสถานภาพหรือตำแหน่งปฏิบัติหน้าที่หรือแสดงบทบาทของตนได้ถูกต้องและเหมาะสมกับตำแหน่งของตน สังคมนั้นย่อมก้าวหน้าไปได้รวดเร็วและไม่เกิดปัญหาสังคมขึ้น

ดังนั้น สังคมที่จะเจริญก้าวหน้านั้น ต้องมีคนในสังคมมีคุณภาพ กลุ่มคนที่สามัคคี มีความรับผิดชอบในหน้าที่ตำแหน่งของตนและมีการจัดระเบียบที่ดี



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น